พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
4.1 หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (The Thai Electronic Transactions Act) พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ธุรกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมโดยนำหลักการรับรองเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาจากกฎหมายแม่แบบว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Model Law on Electronic Commerce 1996) และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Model Law on Electronic Signatures 2001) ของคณะกรรมการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศสหประชาชาติ (United Nations Commissions on International Trade Law : UNCITRAL)
พระราชบัญญัติฯนี้ประกอบด้วย2ส่วน คือ
4.1.1 หลักความเท่าเทียมกันระหว่างเอกสารในรูปแบบของกระดาษและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Functional Equivalent Approach)
กฎหมายให้การรับรองสถานภาพทางกฎหมาย (Legal Status) แก่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้มีสถานภาพทางกฎหมายเช่นเดียวกับเอกสารที่อยู่ในรูปแบบกระดาษ ในปัจจุบันนี้ ข้อความในอีเมล์ แม้จะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ แต่กฎหมายให้การรับรองสถานภาพทางกฎหมายเหมือนกับข้อความที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษ
4.1.2 หลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality)
พระราชบัญญัตินี้จึงให้การรับรองสถานภาพทางกฎหมาแก่เทคโนโลยีใดๆก็ตามที่สามารถนำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคล (Identity Verification) รวมทั้งพิสูจน์ความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร (Integrity) ซึ่งถือว่าเปิดช่องทางเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่อาจจะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต (Leave rooms for future technologies)
4.2 ขอบเขตการบังคับใช้ (Scope of Applicability)
A. ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา3แห่งพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับกับธุรกรรมทางเพ่งและทางพาณิชย์ที่ดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่จะได้รับการละเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา นอกจานี้ยังใช้บังคับแก่การดำเนินงานของรัฐด้วย”
อย่างไรก็ตามกฎหมายบัญญัติว่า หากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดยกเว้นไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติบังคับ ก็สามารถยกเว้นได้ ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดยกเว้นไว้ 2 ธุรกรรม คือ ธุรกรรมเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว และมรดก โดยไม่ให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นสัญญาหมั้น สัญญาก่อนสมรส การหย่า เพราะหากใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้พิสูจน์ได้ยาก หรือกรณีมรดก เช่น พินัยกรรมแบบเขียนเอง ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนด้วยลายมือของตน และลงลายชื่อชื่อ ถ้านำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ก็ทำให้พิสูจน์ลายมือได้ยาก อีกทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโอนทรัพย์มรดกที่มีความสำคัญจึงไม่ให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์
B กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา (E-Sign Act)
กฎหมายลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสหรัฐอเมริกาขยายขอบเขตของการยกเว้นการใช้บังคับของกฎหมายออกไป เช่น มาตรา 103 กำหนดว่า ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับกับสัญญาหรือเอกสารใดๆที่เกี่ยวกับพินัยกรรม เอกสารประกอบพินัยกรรม การก่อตั้งกองทุน การรับบุตรบุญธรรม การหย่า ธุรกรรมที่เกี่ยวกับครอบครัว คำสั่งศาล การแจ้งเตือน คำร้อง คำให้การ และเอกสารอื่นๆในการพิจารณาคดี หนังสือแจ้งเตือนการให้บริการทางสาธารณูปโภค การประปา ไฟฟ้า เอกสารเกี่ยวกับการเร่งรัดการชำระหนี้ การยึดทรัพย์สิน การขายทอดตลาดทรัพย์สิน หนี้ที่เกี่ยวกับการจำนอง การขับไล่ การใช้สิทธิที่ได้รับการรักษาภายใต้สัญญา สัญญาเช่าบ้านหลัก เอกสารแจ้งการยกเลิกประกันสุขภาพหรือผลประโยชน์อื่นๆที่เกี่ยวกับการประกันชีวิต การเรียกสินค้าคืน และเอกสารที่จะต้องไปพร้อมกับการขนส่งสินค้าอันตราย
กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะห้ามมีการส่งเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็เนื่องจากว่าธุรกรรมเหล่านี้เป็นธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเสียสิทธิ กฎหมายจึงต้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เช่น หากยินยอมให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์ส่งเอกสารแจ้งเตือนการตัดสัญญาณ(Notice) โดยทางข้อความอิเล็กทรอนิกส์มาที่โทรศัพท์มือถือแล้ว แม้ตามกฎหมายไทย ผู้ประกอบการสามารถทำได้ แต่ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาผู้ประกอบการทำไม่ได้ ต้องส่งหนังสือแจ้งเตือน (Notice) เป็นจดหมาย เนื่องจากข้อความการแจ้งเตือนนั้นเป็นการตัดสัญญาโทรศัพท์มือถือ อันเป็นการแจ้งเตือนที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค จะต้องทำในกระดาษห้ามใช้ระแบบอิเล็กทรอนิกส์
4.3 การรับรองสถานภาพทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Legal Status of Electronic Documents)
มาตรา 7 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุข้อความนั้นอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” และการพิจารณาว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จะเข้าหลักเกณฑ์ว่ามีการทำเป็นหนังสือหรือไม่นั้น ตามมาตรา 8 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา9 กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานมาแสดง การจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และนำกลับมาใช้ได้โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลงแล้วให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือหรือเอกสารเป็นหนังสือมาแสดงแล้ว”ธุรกรรมที่กฎหมายบังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ แบ่งได้ดังนี้
1. การใดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ
2. การใดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
3. การใดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
หากสัญญาเหล่านี้มีการจัดทำขึ้นในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าถึงได้ (Accessible) และนำกลับมาใช้โดนที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง (Subsequently Display) แล้ว ก็ถือว่ามีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว ตัวอย่างเช่น อีเมล์ที่มีข้อความเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่ทำในระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้กู้ส่งอีเมล์จาก hotmail หรือ yahoo ไปถึงผู้ให้กู้ เมื่อพิมพ์แล้วจะถูกส่งเข้าไปยัง mail box ของผู้ให้กู้ ทุกครั้งที่ผู้ให้กู้จะอ่านข้อความก็สามารถดึงข้อความที่ส่งมาอ่านได้ นั้นก็คือสามารถเข้าถึงและเปิดอ่านได้ เมื่อเปิดอ่านข้อความในอีเมล์ ข้อความก็เหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับกรณีที่มีการทำสัญญากู้ในรูปไฟล์ข้อมูล (Word Format) ซึ่งปกติแล้วอาจมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อมูลได้ แต่ถ้ามีการใช้ระบบ PDF ที่สามารถล๊อคไม่ให้มีการแก้ไขข้อมูลได้ (Locked File) กฎหมายก็ถือว่ามีการทำเป็นหนังสือแล้ว
เงื่อนไขของต้นฉบับ (Original Document) มาตรา 10 กำหนดว่า ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาข้อมูลในสภาพที่เป็นมาแต่เดิมอย่างเอกสารต้นฉบับ ถ้าได้นำเสนอหรือเก็บรักษาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ก็ถือว่าการนำเสนอหรือเก็บรักษาเอกสารตามกฎหมาย กล่าวคือ ต้องใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ (Use reliable) ในการเก็บรักษาความถูกต้องของข้อความตั้งแต่การสร้างข้อความจนเสร็จสมบูรณ์และสามารถแสดงข้อความนั้นได้ภายหลัง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆของข้อความ (Subsequently Display)
ในการพิจารณาว่า วิธีการที่ใช้เชื่อถือได้หรือไม่ ให้พิจารณาถึงสภาพความพร้อมใช้งานของทางเลือกในการระบุตัวบุคคล กฎเกณฑ์เกี่ยวกับกฎหมาย ระดับความมั่นคงปลอดภัยของการใช้งายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การปฏิบัติตามหลักการในการระบุชื่อบุคคล ระดับของการยอมรับหรือไม่ยอมรับของวิธีการที่ใช้ระบุตัวผู้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการระบุตัวบุคคลขณะทำธุรกรรม และติดต่อสื่อสาร แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางให้ศาลพิจารณาว่าธุรกรรมนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ แต่หลักสำคัญก็เพื่อพิจารณาว่าผู้ทำธุรกรรมเป็นตัวจริง (Identity) หรือไม่
4.4 การรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ (Evidentiary Weight of Electronic Evidence)
มาตรา 11 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการตามกฎหมายในคดีแพ่ง คดีอาญาหรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อถือได้หรือไม่นั้น ให้พิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะ หรือวิธีการสร้าง การเก็บรักษาหรือการสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะหรือวิธีการเก็บรักษาความครบถ้วนและการไม่มีเปลี่ยนแปลงของข้อมูล ลักษณะหรือวิธีการที่ใช้ในการระบุตัวผู้ส่ง (Authentication) นอกจานี้ยังให้น้ำความในวรรคหนึ่งนั้นมาใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์จากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
หลักตามมาตรา11 เป็นหลักการเดียวกับมาตรา 7 โดยกฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดรวมถึงศาลที่จะปฏิเสธไม่รับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยเหตุที่ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญาแพ่ง หรือคดีอื่นๆใด ศาลจะปฏิเสธไม่ยอมรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หากว่าข้อความนั้นไม่น่าเชื่อถือ (Unreliable) แต่การพิสูจน์ว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อถือได้หรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงวิธีการสร้าง การเก็บรักษา การสื่อสาร รวมถึงพฤติการณ์อื่นๆ หลักการพิจารณาดังกล่าวยังนำไปปรับใช้กับสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ออกมา เช่น สลิปเอทีเอ็ม
4.5 การแสดงเจตนาในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Offer and Acceptance)
การแสดงเจตนาในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 13 กำหนดว่า คำเสนอหรือคำสนองในการทำสัญญาอาจจะทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และห้ามมิให้มีการปฏิเสธการการมีผลทางกฎหมายของสัญญาเพียงแต่ว่าคำเสนอคำสนองนั้นทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายให้การรับรองว่าคำเสนอคำสนองอาจจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความในอีเมล์ (E-mail) ข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) ข้อความที่ติดต่อกันทางโปรแกรม MSN, Yahoo, Camfrog ไฟล์ข้อมูลที่ส่งผ่านเสียงโดยระแบบ Bluetooth หรือข้อความเสียงที่มีการบันทึกไว้ทางโทรศัพท์หรือเครื่องรับฝากข้อความ (Voice Mail)
นอกจากนี้ มาตรา 14 ยังกำหนดให้ การแสดงเจตนาหรือคำกล่าวสามารถทำในรูปแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
4.6 ข้อมูลซ้ำกัน (Double Transactions)
มาตรา 18 กำหนดว่า ผู้รับข้อมูลย่อมจะถือว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลที่แยกจากกันและสามารถดำเนินการไปตามข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แต่ละชุดได้ เว้นแต่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะซ้ำกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อีกชุดหนึ่งซึ่งผู้รับจะได้รู้อยู่แล้ว หากใช้ความระมัดระวังตามสมควร กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นได้โดยผู้ประกอบการหรือเว็ปไซค์คิดค่าสินค้าหรือค่าบริการทางอินเตอร์เน็ต จำนวน 2 ครั้ง สำหรับการทำรายการขายสินค้าหรือบริการรายการเดียว เช่น คำสั่งซื้อครั้งที่2 สมบูรณ์ส่งผ่านไปได้ แต่ผู้ประกอบการหรือเว็ปไซค์ คิดว่าบริการสำหรับคำสั่งที่1 ด้วยซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อส่งคำสั่งที่ 2 จึงเป็นข้อมูลซ้ำกัน ดังนั้นในกรณีนี้ผู้ประกอบการจะคิดค่าบริการ 2ครั้งมิได้ เพราะผู้ประกอบการก็ทราบอยู่แล้วว่าคงไม่มีใครจะสมัครเป็นสมาชิกเพื่อจะได้พาสเวิร์ด 2 อัน ซึ่งผู้ประกอบการควรได้รู้ว่าคำสั่งนี้เป็นข้อมูลที่ซ้ำกับข้อมูลแรก เนื่องจากผู้ทำธุรกรรมคือบุคคลเดียวกัน หมายเลขบัตรเครดิตเลขเดียวกันสินค้าที่ต้องการก็คือการได้รับ Password ฉะนั้นไม่มีเหตุผลใดเลยที่ผู้สมัครจะต้องจ่ายเงินถึง2ครั้งในสินค้าอันเดียวกัน
4.7เวลาที่ถือว่ามีการส่งและรับข้อมูล (Time of Dispatching and Receiving)
มาตรา 22 กำหนดว่า การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่าได้มีการส่งเมื่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู้ระบบข้อมูลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ส่งข้อมูล เช่น การส่งข้อความทางอีเมล์เมื่อกด Send แล้วด้านล่างขวาของหน้าจอจะปรากฎไฟสีเขียวที่แสดงว่า ข้อมูลกำลังถูกส่งไป ถ้าไฟเขียวยังไม่เต็มแท่ง แสดงว่าข้อมูลอยู่ระหว่างการส่ง ถ้าต้องการหยุด หรือ ยกเลิก โดยการกด Stop เพราะว่าข้อมูลยังไปไม่หมด กรณีนี้ ถือว่าข้อมูลยังอยู่ในความควบคุมของผู้ส่ง ยังไม่ถือว่าส่ง แต่ถ้าไฟสีเขียวขึ้นจนเต็มและหน้าจอแสดงข้อความว่า Sent แสดงว่าอีเมล์นั้นได้ส่งออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ส่งไปแล้ว และไม่สามารถจะยกเลิก (Cancel) หรือ หยุด (Stop) การส่งข้อมูลได้
ตามมาตรา 23 กำหนดว่า การรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล หมายความว่า หากอีเมล์ถูกส่งเข้าไปใน Mail box ของผู้รับแล้ว กฎหมายถือว่าผู้รับได้รับอีเมล์แล้ว แม้ผู้รับจะยังไม่ได้เข้าไปใน Mailbox และเปิดอ่านก็ตาม
4.8 สถานที่รับและส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Place of Sending and Receiving Electronic Messages)
มาตรา 24 บัญญัติว่า “การส่งหรือการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่าได้ส่ง ณ ที่ทำการงานของผู้ส่งข้อมูล หรือ ได้รับ ณ ที่ทำการงานของผู้รับข้อมูล แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ส่งข้อมูลหรือผู้รับข้อมูลมีที่ทำการงานหลายแห่ง ให้ถือเอาที่ทำการงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับธุรกรรมนั้นเป็นที่ทำการงานเพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่สามารถกำหนดได้ว่าธุรกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับที่ทำการงานแห่งใดมากที่สุด ให้ถือเอาสำนักงานใหญ่เป็นสถานที่ที่ได้รับหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
ในกรณีที่ไม่ปรากฏที่ทำการงานของผู้ส่งข้อมูลหรือผู้รับข้อมูล ให้ถือเอาถิ่นที่อยู่ปกติเป็นสถานที่ที่ส่งหรือได้รับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับการส่งและการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยวิธีการทางโทรเลขและโทรพิมพ์ หรือวิธีการสื่อสารอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มรการพิจารณาสถานที่รับหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีผลต่อการพิจารณาว่าสัญญาเกิดขึ้นที่ใด (Where the contract is made) หรือมูลคดี (Cause of Action) เกิดขึ้นที่ใด อันจะทำให้คู่กรณีสามารถทราบได้ และ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นก็จะสามารถจะนำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเหนือข้อพิพาทนั้นได้
เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเป็นโลกที่ไร้พรมแดน ไร้ขอบเขต และไร้ตำแหน่งที่อยู่ที่แน่นอน ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสถานที่รับและส่งโดนคำนึงถึง สถานที่ทำการงาน (Place of Business) หรือสถานที่ประกอบการของผู้รับและผู้ส่งก่อน โดยไม่ต้องพิจารณาว่าตามความจริงผู้ส่งและผู้รับข้อมูลจะมีภูมิลำเนาหรืออยู่ที่ใดในขณะที่ส่งหรือรับขอมูลนั้น
ในกรณีผู้ส่งและผู้รับมีที่ทำการหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถกำหนดได้ว่าธุรกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับที่ทำการใดมากที่สุด ก็ถือให้สำนักงานใหญ่ (Head Office) เป็นที่รับหรือส่งข้อมูลนั้นเป็นหลัก
นอกจานี้ กรณีที่ไม่ปรากฏที่ทำการงานหลักของผู้ส่งหรือผู้รับข้อมูล ให้ถือเอาถิ่นที่อยู่ปกติเป็นสถานที่ส่งหรือรับข้อมูลนั้น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ประกอบอาชีพนักธุรกิจอิสระ (Freelance) ซึ่งไม่มีสถานที่ประกอบการเป็นหลักแหล่ง กฎหมายให้ถือเอาถิ่นที่อยู่ปกติของเขาเป็นที่ส่งและรับข้อมูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น